เนื้องอกต่อมไทมัส (thymoma)

ต่อมไทมัส เป็นอวัยวะในระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีรูปร่างเหมือนผีเสื้อกางปีกวางตัวอยู่ระหว่างกระดูกหน้าอกและเยื่อหุ้มหัวใจ มีบทบาทในการสร้างและกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิด T-cell เพื่อปกป้องร่างกายและต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย โดยต่อมไทมัสจะทำงานเยอะที่สุดตั้งแต่ก่อนแรกคลอด และค่อยๆลดบทบาทลงจนถึงวัยรุ่น จากนั้นจะเริ่มฝ่อไปกลายเป็นเนื้อเยื่อไขมัน และไม่มีบทบาทในระบบภูมิคุ้มกันอีกต่อไป ดังนั้นในวัยผู้ใหญ่ต่อมไทมัสจึงไม่มีประโยชน์กับร่างกาย

Table of Contents

เนื้องอกต่อมไทมัส

พบได้น้อยประมาณ 2-3 ราย ต่อล้านคนต่อปี มีหลายชนิด ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ที่พบคือเนื้องอกต่อมไทมัสที่เรียกว่าไทโมม่า (thymoma)  โดยสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดแต่มีความเกี่ยวโยงกับยีนกลายพันธุ์บางชนิด โดยสภาพแวดล้อมยังไม่พบว่ามีผลต่อการเกิดเนื้องอกชนิดนี้ เนื่องจากเป็นเนื้องอกที่โตช้าและส่วนใหญ่ลุกลาม ช้า สมัยก่อน เนื้องอกกลุ่มนี้จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง  แต่ในปัจจุบันมีหลักฐานหลายอย่างที่พบว่าเนื้องอกชนิดนี้คือมะเร็งที่ลุกลามอย่างช้าๆ  ดังนั้นในปัจจุบันจึงถือว่าเนื้องอกชนิดนี้เป็นมะเร็งและต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานของการรักษามะเร็ง

อาการแสดง

คนไข้ 30% จะไม่มีอาการ มักตรวจพบ ด้วยความบังเอิญจากการตรวจร่างกายระบบอื่น คนไข้กลุ่มนี้มักเป็นในระยะเริ่มต้น จึงมีโอกาสรักษาหายขาดสูง คนไข้อีกประมาณ 30% มาด้วยอาการของกลุ่มโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหนังตาตก (MG, myasthenia gravis) โดยกลุ่มนี้ก็มักจะพบในระยะเริ่มต้นเช่นกัน  คนไข้ ประมาณ 40% มาด้วยอาการที่เกิดจากการกดเบียดของก้อน เช่นเจ็บแน่นหน้าอก กลืนลำบาก หายใจลำบากเป็นต้น ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ ก้อนมักจะมีขนาดใหญ่และระยะของโรคเริ่มลุกลามขึ้น

การแบ่งความรุนแรงและระยะของโรค

จะพิจารณาเป็นสองระบบคือ

1 ชนิดของเซลล์

2 ขนาดและการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง

1 ชนิดของเซลล์

    ชนิดเอ เซลล์ที่พบจะเป็นเซลล์เยื่อบุรูปกระสวยที่กลายเป็นเซลล์มะเร็ง มีเซลล์ต่อมไทมัส(thymocytes) แทรกอยู่เล็กน้อย

จะเป็นชนิดที่ลุกลามน้อย โตช้าๆ 

     ชนิดเอบี เป็นเซลล์ที่เป็นชนิดเอ แต่มีสัดส่วนของเซลล์น้ำเหลือง Lymphocyte ที่ผิดปกติแทรกอยู่ในสัดส่วนเท่าๆกัน ลุกลามน้อย โตช้า

 

     ชนิดบี แยกเป็น 

      บี 1 มีเซลล์น้ำเหลือง Lymphocyte ที่ผิดปกติเป็นจำนวนมาก ร่วมกับเซลล์ต่อมไทมัสที่ผิดปกติปะปนกัน ลุกลามน้อย โตช้า 

      บี 2 มีเซลล์น้ำเหลือง Lymphocyte ที่ผิดปกติร่วมกับเซลล์เยื่อบุที่ผิดปกติปะปนกับเซลล์ต่อมไทมัสที่ผิดปกติ โตเร็ว พบการลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงได้เร็วและบ่อย

     บี 3 มีเซลล์น้ำเหลือง Lymphocyte ที่ผิดปกติสัดส่วนน้อย ร่วมกับเซลล์เยื่อบุชนิดกระสวยที่ผิดปกติปะปนกับเซลล์ต่อมไทมัสที่ผิดปกติ มักอยู่บริเวณข้างๆหลอดเลือดที่เลี้ยงต่อมไทมัส

โตเร็ว พบการลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงได้เร็วและบ่อย

2 ขนาดและการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง

แบ่งตาม TNM staging 9th edition ( T: ลักษณะก้อน N:การลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง M: การลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ)

ระยะที่ 1 ก้อนอยู่ในต่อมไทมัส อาจอยู่ในแคปซูลหรือมีการโตออกนอกแคปซูลก็ได้ อาจลุกลามไปยังเยื่อหุ้มปอดที่คลุมต่อมไทมัสอยู่ แต่ยังไม่ลุกลามไปยังเยื่อหุ้มหัวใจ ยังไม่มีการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 2 ก้อนลุกลามไปยังเยื่อหุ้มหัวใจ ปอด หรือเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกระบังลม ยังไม่มีการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 3A ก้อนลุกลามไปเส้นเลือดดำใหญ่ส่วนบน เส้นเลือดดำที่พาดผ่านคอ ผนังหน้าอก หรือเส้นเลือดปอดที่อยู่นอกเยื่อหุ้มหัวใจ ยังไม่มีการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 3B ก้อนลุกลามไปที่เส้นเลือดแดงใหญ่ เส้นเลือดปอดที่อยู่ในเยื่อหุ้มหัวใจ หัวใจ หลอดลมหรือหลอดอาหาร ยังไม่มีการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 4A ก้อนทุกขนาด พบการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองด้านหน้าเยื่อหุ้มหัวใจ หรือพบก้อนมะเร็งแยกกระจายออกไปบริเวณเยี่อหุ้มหัวใจหรือเยื่อหุ้มปอด

ระยะที่ 4 Bก้อนทุกขนาด ร่วมกับพบการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองส่วนลึกในช่องอกหรือบริเวณคอ อาจพบก้อนมะเร็งแยกกระจายออกไปในปอดหรืออวัยวะอื่นๆนอกช่องอก

การรักษา

การรักษาที่ดีที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดก้อนมะเร็งรวมทั้งต่อมไทมัสออกทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงที่มีผลต่อชีวิต ก็ยังสามารถผ่าตัดได้ โดยผ่าตัดนำอวัยวะที่ถูกลุกลามออกไปด้วยกันทั้งหมด เช่นปอดบางส่วน เยื่อหุ้มหัวใจผนังหน้าอก เป็นต้น หากลุกลามไปยังหลอดเลือดดำก็ยังสามารถผ่าตัดออกและตัดต่อหลอดเลือดดำได้ เช่นกัน  

แต่หากลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญที่เสี่ยงต่อชีวิตเช่นเส้นเลือดแดงใหญ่หรือหัวใจ การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง จึงแนะนำให้ใช้วิธีการอื่นเช่นการให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงจะปลอดภัยกว่า

ทางเลือกในการรักษา

หากยังอยู่ในระยะต้นๆ หรือลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงที่ไม่เยอะสามารถ ผ่าตัดโดยการส่องกล้องแผลเล็กหรือผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้ 

  • ผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก จะมีข้อได้เปรียบคือขนาดแผลเล็ก ฟื้นตัวไว ลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด เสียเลือดน้อยมาก สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว
  • ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่ดีที่สุดหากอยู่ในสถานพยาบาลที่สามารถผ่าตัดได้

ข้อได้เปรียบ : แขนหุ่นยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณที่เล็กแคบได้นุ่มนวลและแม่นยำ แผลเล็ก ฟื้นตัวไว เจ็บน้อย เสียเลือดน้อยมาก

ส่วนการผ่าตัดแบบเปิดแผลบริเวณหน้าอกใช้ในกรณีก้อนลุกลามไปอวัยวะที่อันตราย ทำให้สามารถควบคุมการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย

Reference

  1. NCCN guidelines version 2.2024 ; Thymomas and thyme carcinomas.

2 . Enrico Ruffini et al. The International Association for the Study of Lung Cancer Thymic  

    Epithelial Tumors Staging Project: Proposal for a Stage Classification for the Forthcoming 

    (Ninth) Edition of the TNM Classification of Malignant Tumors. Journal of Thoracic Oncology 

    Vol. 18 No. 12: 1655–1671.

  1. Geanphun, S., & Sakiyalak, P. (2019). Survival and Factors Predictive of Survival in Patients 

    with Thymic Carcinoma. Siriraj Medical Journal, 71(6), 472–479

  1. N. Girard et al. Thymic epithelial tumours: ESMO Clinical Practice Guidelines for diagnosis, 

    treatment and follow-up. Annals of Oncology 26 (Supplement 5): v40–v55, 2015

  1. Robert J Cerfolio et al. (2011) ; Starting a Robotic Program in General Thoracic Surgery : Why, How, and Lessons learned. Ann Thorac Surg, 2011; 91:1729-37.

Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.