ในปัจจุบันการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ชนิดแผลเล็กฟื้นตัวเร็ว เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในวงกว้างทั้งมนไทยและต่างประเทศ
การผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดที่ต้องดำเนินการโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการใช้หุ่นยนต์ โดยผ่าตัดผ่านการควบคุมหุ่นยนต์แบบ real time ในห้องผ่าตัด ซึ่งการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยจะทำให้การผ่าตัดสามารถเข้าถึงอวัยวะที่ซับซ้อนและเข้าถึงได้ยาก และทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้น
การผ่าตัดช่องทรวงอกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย จะครอบคลุมถึงการผ่าตัดทั้งปอดและอวัยวะในช่องทรวงอก โดยจะรวมถึงมะเร็งในปอด การตัดปอดออกทั้งกลีบ/ทั้งข้าง การทําหัตถการขั้นสูง เช่นการตัดต่อหลอดลมและเส้นเลือดปอด การผ่าตัดอวัยวะขั้นระหว่างปอด (mediastinum) เช่น ต่อมเนื้องอกไทมัส หรือการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรักษาภาวะเส้นเลือดถูกกดทับโดยซี่โครงซี่บน (thoracic outlet syndrome) เป็นต้น
ในประเทศไทยได้มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เหล่านี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเริ่มใช้ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่แรก ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวเป็นรักษาดังกล่าวเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการสืบค้นและการรักษา
จากการติดตามผู้ป่วยเราพบว่า การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและความแม่นยำ ลดความบอบช้ำ เสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อย ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน ทำให้คนไข้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล
Table of Contents
ข้อได้เปรียบในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
- ความแม่นยํา–แม้ในอวัยวะขนาดเล็ก/ซับซ้อน
- แผลเล็ก
- ลดการบอบช้ําของเนื้อเยื่อโดยรอบ
- ลดความเจ็บปวด
- ลดอัตราการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด
- ลดระยะเวลาการผ่าตัด
- ลดระยะการฟื้นตัวและการนอนโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติได้รวดเร็วขึ้น
โรคที่สามารถใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้
การพิจารณาใช้หลักการเดียวกับการผ่าตัดแบบแผลเล็กฟื้นตัวเร็ว
✅พยาธิสภาพอยู่ในปอด
เช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง(benign lesion), มะเร็งปอดระยะที่ 1-2-3 (early stage lung cancer), ก้อนติดเชื้อในปอด, ภาวะลมรั่วในปอด
**ขนาดก้อนไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร เพราะก้อนจะใหญ่จนเอาออกผ่านแผลผ่าตัดไม่ได้(เราไม่สามารถใช้วิธีผ่าก้อนให้เล็กลงก่อนนําออกมาได้ เพราะจะทําให้มะเร็งแพร่กระจาย และมีผลต่อการแปลผลชิ้นเนื้อ)
**ทั้งนี้ต้องพิจารณาระยะการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงและต่อมน้ําเหลืองด้วย
✅พยาธิสภาพบริเวณเนื้อเยื่อกลางอกระหว่างปอดสองข้าง (Mediastinum)
ได้แก่กลุ่มเนื้องอกบริเวณเนื้อเยื่อเมดิแอสตินั่ม (mediastinal tumor), กลุ่มโรคอ่อนแรงหนังตาตก (myasthenia gravis) ที่มีข้อบ่งชี้ในการตัดต่อมไธมัสออก, การผ่าตัดแก้ไขเส้นประสาทซิมพาเทติก(sympathectomy)
✅Thoracic outlet syndrome โรคที่เกิดจากซี่โครงซี่แรกไปกดเบียดเส้นเลือดหรือเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขน
**โดยใช้หลักการ พิจารณาเดียวกับข้อแรกคือ ก้อนเนื้องอกไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่กําหนด และไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง
ขั้นตอนการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์
ส่วนประกอบของหุ่นยนต์แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1.แขนหุ่นยนต์
2.ส่วนสำหรับแพทย์ควบคุมการผ่าตัด
3.ส่วนประมวลผล
โดยสามารถอธิบายรายละเอียดของแต่ละส่วนดังนี้
1.แขนหุ่นยนต์ผ่าตัด
เป็นส่วนที่ทําหน้าที่ผ่าตัด เปรียบได้กับมือของศัลยแพทย์ โดยการเคลื่อนไหวต่างๆในการผ่าตัดต้องถูกควบคุมโดยตรงจากศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดแบบ real time ในห้องผ่าตัดตลอดระยะเวลาการผ่าตัด
แขนดังกล่าวประกอบด้วยแขนหุ่นยนต์ 4 แขน
1 แขนทําหน้าที่ถือกล้องผ่าตัด และ 3 แขนที่เหลือทําหน้าที่แทนมือและเครื่องมือของศัลยแพทย์ซึ่งสามารถหมุนได้รอบทิศทางมากกว่าข้อมือของคนทั่วไป
ทุกการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์จะถูกควบคุมโดยอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับมือของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
ข้อดีคือ แขนของหุ่นยนต์ยังกล่าวมีขนาดเล็กและสามารถเข้าถึงตำแหน่งลึกๆบางตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก การเคลื่อนไหวต่างๆในการผ่าตัดจะถูกควบคุมโดยตรงจากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับมือของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์มีความแม่นยำและนุ่มนวลตามที่ศัลยแพทย์ควบคุม
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดำเนินการผ่าตัดในห้องผ่าตัดอย่างใกล้ชิด โดยมีศัลยแพทย์ผู้ช่วยคอยอยู่ในพื้นที่ผ่าตัดเพื่อทำการสับเปลี่ยนเครื่องมือ หรือดูแลเบื้องต้นอย่างใกล้ชิดในกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉิน
2.ส่วนสำหรับแพทย์ผู้ควบคุมการผ่าตัด
เป็นพื้นที่นอกบริเวณผ่าตัดที่ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้ในการควบคุมหุ่นยนต์ โดยส่วนควบคุม จะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อโดยตรงกับมือของศัลยแพทย์ ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์อย่างละเอียด
สิ่งที่ศัลยแพทย์เห็นจะหน้าจอประมวลผล จะเป็นภาพ 3 มิติที่แสดงรายละเอียดภายในการผ่าตัดอย่างชัดเจน(การมองเห็นในส่วนนี้จะมีความละเอียดชัดเจนสูงเป็นพิเศษทั้งในด้านมิติ ความลึก และความคมชัด)
การขยับมือของศัลยแพทย์จะถูกแปลเป็นสัญญาณผ่านเข้าไปยังแขนหุ่นยนต์ให้ขยับเคลื่อนไหวตามการควบคุม ซึ่งทำให้การผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะสามารถดำเนินการผ่าตัดได้เกินขีดจํากัดของมือมนุษย์ ทั้งในด้านการเข้าถึงตําแหน่งที่มือศัลยแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ และการใช้หุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มความเที่ยงตรงแม่นยำในการผ่าตัด การเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลจะช่วยลดความบอบช้ำของเนื้อเยื่อ ลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดและการเสียเลือดได้
3.ส่วนประมวลผลและควบคุมพลังงาน
เป็นส่วนแสดงภาพ 2 มิติของการผ่าตัดแบบ real time ผ่านกล้องบนหน้าจอ ใช้สำหรับทีมการรักษาและศัลยแพทย์ผู้ช่วย นอกจากนี้ยังมีส่วนควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องมือและแก๊ซทางการแพทย์ที่ใช้ระหว่างการผ่าตัด ระบบการประมวลผลและหน่วยความจำต่างๆของอุปกรณ์
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์
ก่อนการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย ผู้ป่วยจะได้รับการแจ้งถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทุกราย โดยมีโอกาสต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบแผลใหญ่หากเกิดภาวะไม่พึงประสงค์เช่น เลือดออกปริมาณมากระหว่างผ่าตัด พบเยื่อพังผืดในช่องปอดปริมาณมากหรือพบระยะของโรคลุกลามไปมากกว่าการประเมินก่อนการผ่าตัดเป็นต้น เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด และเพื่อประโยชน์สูงสุดของการรักษา
ก่อนการผ่าตัด ทีมการรักษาจะมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างรัดกุม เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่(ที่มีแผลเล็ก) ศัลยแพทย์หลักจำเป็นต้องเป็นศัลยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการใช้หุ่นยนต์ ต้องเตรียมการทั้งศัลยแพทย์ผู้ช่วยที่มีประสบการณ์ พยาบาลประจำห้องผ่าตัดที่ได้รับการฝึกความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และทีมวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญ
การเตรียมการทั้งด้านบุคลากร และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น
การดูแลและเตรียมตัวก็จะไม่ต่างกันกับการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก กล่าวคือ
----ระยะก่อนผ่าตัด----
ผู้ป่วยต้องได้รับการแจ้งและทำความเข้าใจถึงตัวโรคและการรักษาโดยละเอียดก่อนเลย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
เมื่อเข้าใจแล้ว ต้องเตรียมตัว หากมีโรคประจำตัวเฉพาะ ควรต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางนั้นๆร่วมดูแลหากต้องผ่าตัด เช่น หากมีโรคใจสั่นพลิ้ว กินยากันเลือดแข็งตัว ควรต้องหยุดยากันเลือดแข็งตัวและปรับยาเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้นกว่าเพื่อเตรียมก่อนผ่าตัด เป็นต้น
เตรียมร่างกายให้พร้อม ก่อนผ่าปอดควรต้องตรวจสมรรถภาพปอดก่อน และฝึกออกกำลังปอด แพทย์มักจะให้อุปกรณ์ฝึกดูด (triflow) ที่มีลูกบอลลอยได้เวลาดูดผ่านปากท่อของอุปกรณ์เพื่อออกกำลังปอด เตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด
ประเมินสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย การได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ตรวจผลเลือดประเมินการทำงานของระบบต่างๆ ใช้ยาที่จำเป็นให้น้อยที่สุด และหยุดสิ่งที่เป็นโทษเช่นบุหรี่ สุราก่อนผ่าตัดในระยะเวลาที่เหมาะสม
ส่วนแพทย์ก็จะเตรียมทีม วางแผนผ่าตัด เตรียมสิ่งจำเป็นเช่นเลือด ไอซียู ให้พร้อม
----ระหว่างผ่าตัด----
จะให้ได้ผลดี คือการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็กด้วย ผลการรักษาจะดีมาก เพราะเจ็บน้อย
คุณหมอวิสัญญีจะวางแผนการระงับความรู้สึกตามแต่ละสภาพร่างกายผู้ป่วย มีการให้ยาระงับปวดก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งทางหลอดเลือดและบริเวณแผลผ่าตัด ให้สารน้ำ ให้ยาป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามเส้นเลือดดำ
ศัลยแพทย์จะใช้เทคนิคผ่าตัดแบบเจ็บตัวน้อยที่สุด (minimally invasive surgery) เร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
***ขึ้นกับประสบการณ์ของแพทย์ ความพร้อมของอุปกรณ์ผ่าตัด และทีมผ่าตัดด้วย****
นอกจากนี้ จะพยายามใส่สายสวน สายระบายที่ต่อออกมาจากร่างกายคนไข้ให้น้อยที่สุด เช่นกัน
สำหรับการผ่าปอดศัลยแพทย์จะฉีดยาเฉพาะที่บริเวณเส้นประสาทระหว่างซี่โครง เพื่อระงับความปวดอีกครั้งหลังผ่าตัดเสร็จ
----ระยะหลังผ่าตัด----
หลังหมดฤทธิ์ยาสลบ เมื่อตื่นรู้ตัวดี ผู้ป่วยจะได้รับการกระตุ้นให้ลุกจากเตียงโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องได้รับการระงับปวดที่เพียงพอด้วย ทีมผู้ดูแลจะเข้ามาทำการช่วยฟื้นฟูร่างกายตามระบบอย่างรวดเร็ว
สอนออกกำลังกาย สอนฝึกการหายใจ ให้รับประทานอาหารโดยเร็วเมื่อตื่นดี
เมื่อไม่พบภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ศัลยแพทย์จะนำสายสวนสายระบายออกจากร่างกายผู้ป่วยโดยเร็ว เพื่อให้กลับมาดำเนินชีวิตแบบปกติอย่างเร็วที่สุด โดยมากสำหรับการผ่าตัดส่องกล้องปอด ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลหลังผ่าตัดเพียง 1-2 วันเท่านั้น
เทคโนโลยีใหม่ๆไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย
ประเทศไทยเรามีความเปิดกว้างในด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเยอะครับ และเราก็มีบุคลากรคุณภาพที่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยขีดความสามารถระดับนี้ เชื่อได้ว่าภายในเวลาไม่นานการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะมีความแพร่หลายมากขึ้น เป็นประโยชน์แก่คนไข้และจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนไทยครับ
หวังว่าข้อมูลที่เล่ามาจะทำให้ทุกคนได้เห็นภาพการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ได้ชัดเจนมากขึ้นนะครับ
เอกสารอ้างอิง
- ศุภฤกษ์ เจียรผัน. การผ่าตัดปอดและช่องทรวงอกโดยโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
(Robotic-Assisted Thoracoscopic Surgery). ใน: คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือ
เวชศาสตร์ทันยุค 2565, บรรณาธิการ. เวชศาสตร์ทันยุค 2565. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
ศิริราช สังกัดงานวิชาการสำนักงานคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล; 2565. หน้า 223-235.
- NCCN guidelines version 2.2024 ; Non-Small Cell Lung Cancer.
- Detterbeck, Frank C. et al. The Eighth Edition Lung Cancer Stage Classification. CHEST, Volume 151, Issue 1, 193 – 203
- Geanphun, S. ., Rerkpichaisuth, V. ., Ruangchira-urai, R. ., & Thongcharoen, P. . (2022). Survival of Non-Small Cell Lung Cancer Patients with Unexpected N2 after
Complete Resection: Role of Aggressive Invasive Mediastinal Staging should be
Considered. Siriraj Medical Journal, 74(3), 161–168.