ภาวะอกบุ๋ม (Pectus Excavatum)

อกบุ๋ม (Pectus Excavatum) ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านรูปลักษณ์ แต่ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและปอด

อกบุ๋ม หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อกเป็นกรวย (Funnel Chest) คือภาวะผิดปกติแต่กำเนิดของผนังทรวงอก ที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคโครงสร้างผนังอก โดยเฉพาะในเพศชาย และมักเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ภาวะนี้อาจดูเหมือนเพียงปัญหาด้านรูปลักษณ์ แต่แท้จริงแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและปอดได้ในระยะยาว

ในปัจจุบันการวินิจฉัยและรักษาภาวะอกบุ๋มสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Repair หรือ Nuss Procedure)

ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและได้ผลดีในการฟื้นฟูโครงสร้างหน้าอกให้กลับมาใกล้เคียงปกติ ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ปกครอง บุคคลทั่วไป รวมถึงแพทย์ทั่วไป กุมารแพทย์ทั่วไป และอายุรแพทย์โรคปอด ได้มีความเข้าใจในภาวะนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมแนวทางในการประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม

 ภาพแสดงผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกอกบุ๋ม จะเห็นว่ากระดูกหน้าอกช่วงกลางลำตัวระหว่างราวนมยุบลงไป

สาเหตุ

เชื่อว่าเกิดจากความอ่อนแอและความยืดหยุ่นที่ผิดปกติของกระดูกอก บริเวณกระดูกอ่อนซี่โครงที่ 3 ถึง 7 หรือตัวกระดูกซี่โครงเอง การเจริญเติบโตที่มากเกินไปของกระดูกซี่โครง และโครงกระดูกอ่อนที่เชื่อมระหว่างซี่โครงและกระดูกกลางอกไม่เจริญเติบโต ทำให้ผนังหน้าอกยุบตัวไปทางด้านหลัง มีข้อมูลสนับสนุนว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยพบว่ามากกว่า 40% ของผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวที่เป็นภาวะนี้

ภาพแสดงกระดูกหน้าอกในคนปกติ

 ภาพแสดงกระดูกหน้าอกในผู้ที่มีภาวะ “อกบุ๋ม”

ระบาดวิทยา

อัตราการเกิดภาวะอกบุ๋มพบได้ 1/300 ถึง 1/1000 ของทารกที่เกิดใหม่ มีอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงเป็น 5:1 โดยภาวะอกบุ๋ม(pectus excavatum)พบเป็น 90% ของความผิดปกติของผนังทรวงอกทั้งหมด ความผิดปกติมักจะปรากฏให้เห็นภายในปีแรกของชีวิต โดยความผิดปกติที่รุนแรงจะพบตั้งแต่แรกเกิด อกที่เป็นกรวยนี้มีแนวโน้มที่จะเด่นชัดมากขึ้นในช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในวัยรุ่น

อาการ และผลกระทบของภาวะอกบุ๋ม (Pectus Excavatum)

ภาวะอกบุ๋มเกิดจากความผิดปกติของกระดูกอ่อนที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกซี่โครงและกระดูกกลางอก ทำให้เกิดการยุบตัวของผนังทรวงอกด้านหน้า ซึ่งอาจมีลักษณะสมมาตรหรือไม่สมมาตร และพบได้ตั้งแต่วัยทารก หรือค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้นเมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

  • ผู้ป่วยมักมีลักษณรูปร่างผอม สูง และมีท่าทางหลังค่อมเล็กน้อย ซึ่งสามารถตรวจพบลักษณะ “อกเป็นกรวย” ได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป หากมีความรุนแรง อาจพบอาการแสดงร่วม เช่น เหนื่อยง่าย หรือความทนทานต่อการออกกำลังกายลดลง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีเสียงฟังผิดปกติ (murmur)
  • เจ็บแน่นหน้าอก ในบางราย
  • ผลกระทบทางจิตใจ โดยเฉพาะในวัยรุ่น ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเอง

การยุบตัวของกระดูกอกในระดับรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดการกดเบียดหัวใจและปอด นำไปสู่ความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต และการทำงานของระบบทางเดินหายใจในระยะยาว

การวินิจฉัยภาวะอกบุ๋ม

  • การวินิจฉัยภาวะอกบุ๋มสามารถทำได้โดยเริ่มจากการตรวจร่างกาย และยืนยันด้วยการตรวจภาพทางรังสี เช่น เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูระดับของการยุบตัวของกระดูกอก
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อประเมินความรุนแรงโดยใช้ดัชนี Haller (Haller Index) โดยคำนวณจากอัตราส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางซ้าย-ขวา เทียบกับเส้นผ่านศูนย์กลางหน้า-หลัง ของตำแหน่งที่บุ๋มมากที่สุด
  • ค่าปกติไม่เกิน 2
  • หากค่ามากกว่า 3.25 ถือว่ามีความรุนแรง

ภาพ CT scan แสดงกระดูกหน้าอกบุ๋มลงไป โดยเบ้ไปทางด้านขวาเล็กน้อย ร่วมกับกดเบียดปอดขวา และหัวใจด้วย Haller index คืออัตราส่วนของ A/B

  • การตรวจอื่น ๆ ที่อาจใช้ร่วม:
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • อัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiography) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หรือการกดเบียดหัวใจ
  • การทดสอบสมรรถภาพปอด เพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซ และปริมาตรปอด

แนวทางการรักษาภาวะอกบุ๋ม (Funnel Chest)

การรักษาภาวะอกบุ๋มมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของความผิดปกติ อายุของผู้ป่วย อาการร่วมทางหัวใจและปอด ตลอดจนผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยสามารถแบ่งแนวทางการรักษาออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่:

1. การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด (Non-surgical)
ในผู้ป่วยที่มีภาวะอกบุ๋มไม่รุนแรง หรือยังอยู่ในช่วงวัยเด็กที่กระดูกยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ อาจเลือกใช้วิธี ดูดสุญญากาศ (Vacuum Bell Therapy) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แรงดันลบเพื่อดึงกระดูกอกให้ยกขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ข้อดีของวิธีนี้คือไม่ต้องผ่าตัด แต่ต้องใช้ความสม่ำเสมอ และเหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น เช่น เด็กอายุน้อยที่กระดูกยังยืดหยุ่น

2. การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery)
สามารถแก้ไขสาเหตุ คือกระดูกอ่อนส่วนที่ทำให้เกิดความผิดปกติได้ และสามารถแก้ไขภาวะที่กระดูกยุบชนิดไม่สมมาตรได้ แต่ก็มีข้อเสียคือ แผลใหญ่ ต้องตัดกระดูกเยอะหลายตำแหน่ง มีภาวะปวดหลังผ่าตัดเยอะ ติดเชื้อหลังผ่าตัด หรือกล้ามเนื้อหรือกระดูกขาดเลือดหลังผ่าตัดได้ โดยวิธีการผ่าตัดคือ

  •  Ravitch procedure (modified)  โดยตัดกระดูกอ่อนซี่โครงที่ผิดรูปทั้งหมดออก และยกกระดูก sternum ขึ้นมาจนได้ระดับที่เหมาะสม และใช้แท่งโลหะงัดหลังกระดูก sternum โดยปลาย 2 ข้างของแท่งโลหะจะยึดติดกับกระดูกซี่โครงส่วนแข็งไว้ อาจต้องใส่โลหะงัดกระดูกไว้หลายตัวขึ้นกับความรุนแรงของการยุบตัวของกระดูกอก เมื่อกระดูกเข้ารูปดีแล้ว ซึ่งมักเป็นระยะที่เด็กพ้นระยะการเจริญเติบโตไปแล้ว จึงค่อยผ่าตัดอีกครั้งเพื่อนำโลหะดามกระดูกออก  ซึ่งในปัจจุบันสามารถใช้แผ่นและสกรูโลหะทางศัลยกรรมซึ่งออกแบบเฉพาะตามความผิดปกติของผู้ป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดครั้งที่สองเพื่อนำอุปกรณ์ออก
  • Sternal turnover ตัดกระดูกอ่อนที่เชื่อมกระดูกซี่โครงให้ขาดจากกระดูกอกทุกซี่ แต่ไม่ได้เอากระดูกออกไป  และใช้วิธีพลิกกลับกระดูกหน้าอก sternum ให้ส่วนยุบกลับมาอยู่ด้านนอกแทน วิธีนี้อาจทำให้กระดูกหน้าอกขาดเลือดได้บ่อย เนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณนี้อาจได้รับบาดเจ็บจากการสลับข้างซ้ายขวา (Internal mammary artery injury)
  • ใช้วิธีการตัดกระดูกออกและการสร้างผนังทรวงอกใหม่ โดยใช้วัสดุทดแทน

แนวโน้มการรักษาในปัจจุบันคือการเลื่อนการผ่าตัดไปจนถึงช่วงเจริญเติบโตในวัยรุ่น และปรับเทคนิคการผ่าตัดให้ตัดกระดูกอ่อนออกน้อยลง

ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดที่พบบ่อยที่สุดไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นการทำงานของระบบหัวใจและปอดที่ลดลง การผ่าตัดควรทำหลังจากช่วงการเจริญเติบโตของเด็ก

ภาพแสดงการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก Modified Nuss Procedure

3. การผ่าตัดแผลเล็กแบบส่องกล้อง (Minimally Invasive Repair: Nuss Procedure)
ในปัจจุบัน การรักษาภาวะอกบุ๋มที่ได้รับความนิยมสูงคือ การผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็ก (Modified Nuss Procedure) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย โดยเฉพาะในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น

การผ่าตัดนี้ใช้แผลเล็กประมาณ 2–3 เซนติเมตรบริเวณด้านข้างหน้าอก สอดแท่งโลหะเข้าใต้กระดูกอกเพื่อดันกระดูกที่ยุบให้กลับขึ้นมาตามแนวกลางอก ภายใต้การมองเห็นด้วยกล้องส่องผ่านโพรงอก ทำให้สามารถควบคุมความปลอดภัยได้ตลอดกระบวนการ

ข้อดีของการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็ก:

  • แผลขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
  • ไม่ต้องตัดกระดูกจำนวนมาก
  • ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อน
  • ให้ผลการฟื้นฟูโครงสร้างหน้าอกอย่างมีประสิทธิภาพ

แท่งโลหะจะอยู่ในร่างกายประมาณ 2–3 ปี แล้วจึงนัดผ่าตัดนำออกเมื่อกระดูกทรวงอกเข้ารูปถาวรและพ้นวัยเจริญเติบโต

ภาพแสดงแท่งเหล็กดามกระดูกก่อนปรับยกกระดูกอก

ภาพแสดงแท่งเหล็กดามกระดูกขณะปรับยกกระดูกอก แก้ไขภาวะอกบุ๋ม

ภาพแสดงแท่งเหล็กดามกระดูกหลังปรับยกกระดูกอก แก้ไขภาวะอกบุ๋ม

สรุปและข้อแนะนำ

ภาวะอกบุ๋ม (Pectus Excavatum) ไม่ใช่เพียงปัญหาด้านรูปลักษณ์ แต่เป็นภาวะที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหัวใจและปอดในระยะยาว โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการประเมินและรักษาในเวลาที่เหมาะสม

ผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก สมรรถภาพลดลง หรือมีผลการตรวจที่แสดงถึงการกดเบียดหัวใจและปอด ควรเข้ารับการประเมินอย่างครบถ้วน และพิจารณารับการรักษาอย่างเหมาะสม

ภาพแสดงผู้ที่มีภาวะอกบุ๋มหลังได้รับการผ่าตัด แก้ไขภาวะอกบุ๋มด้วยวิธีส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

ภาพ X-ray ปอดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัด แก้ไขภาวะอกบุ๋มด้วยวิธีส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านอกบุ๋ม

หากสงสัยว่าบุตรหลานหรือคนใกล้ตัวมีภาวะ “อกบุ๋ม” ท่านสามารถเข้ารับคำปรึกษาเพื่อประเมินอาการ และวางแผนการรักษาที่ปลอดภัยและเหมาะสมในแต่ละราย พร้อมแนวทางการรักษาแบบส่องกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Repair) ที่ปลอดภัย ฟื้นตัวเร็ว ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อเนื่องในระยะยาว และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

นพ.ศุภฤกษ์ เจียรผัน ศัลยแพทย์ทรวงอก
– Website: www.suparaukg.com
– Facebook Page: นพ.ศุภฤกษ์ ผ่าตัดปอดและทรวงอก

Reference

  • Sharma G, Carter YM. Pectus Excavatum. 2023 Jul 17. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan–. PMID: 28613668
  • Rha EY, Kim JH, Yoo G, Ahn S, Lee J, Jeong JY. Changes in thoracic cavity dimensions of pectus excavatum patients following Nuss procedure. J Thorac Dis. 2018 Jul;10(7):4255-4261. – PMC PubMed
  • Fortmann C, Petersen C. Surgery for Deformities of the Thoracic Wall: No More than Strengthening the Patient’s Self-Esteem? Eur J Pediatr Surg. 2018 Aug;28(4):355-360. – PubMed
  • Brochhausen C, Turial S, Müller FK, Schmitt VH, Coerdt W, Wihlm JM, Schier F, Kirkpatrick CJ. Pectus excavatum: history, hypotheses and treatment options. Interact Cardiovasc Thorac Surg. 2012 Jun;14(6):801-6. – PMC PubMed
  • Kelly RE, Daniel A. Outcomes, quality of life, and long-term results after pectus repair from around the globe. Semin Pediatr Surg. 2018 Jun;27(3):170-174. –PubMed
  • De Feria AE, Bajaj NS, Polk DM, Desai AS, Blankstein R, Vaduganathan M. Pectus Excavatum and Right Ventricular Compression in a Young Athlete with Syncope. Am J Med. 2018 Nov;131(11):e451-e453. – PubMed
  • Lawson ML, Mellins RB, Paulson JF, Shamberger RC, Oldham K, Azizkhan RG, Hebra AV, Nuss D, Goretsky MJ, Sharp RJ, Holcomb GW, Shim WK, Megison SM, Moss RL, Fecteau AH, Colombani PM, Moskowitz AB, Hill J, Kelly RE. Increasing severity of pectus excavatum is associated with reduced pulmonary function. J Pediatr. 2011 Aug;159(2):256-61.e2. –PubMed
  • Kelly RE, Obermeyer RJ, Nuss D. Diminished pulmonary function in pectus excavatum: from denying the problem to finding the mechanism. Ann Cardiothorac Surg. 2016 Sep;5(5):466-475. – PMC PubMed
  • Goretsky MJ, McGuire MM. Complications associated with the minimally invasive repair of pectus excavatum. Semin Pediatr Surg. 2018 Jun;27(3):151-155. – PubMed
  • Ravitch MM. The Operative Treatment of Pectus Excavatum. Ann Surg. 1949 Apr;129(4):429-44. – PMC PubMed
  • REHBEIN F, WERNICKE HH. The operative treatment of the funnel chest. Arch Dis Child. 1957 Feb;32(161):5-8. – PMC PubMed
  • Nuss D, Kelly RE. Minimally invasive surgical correction of chest wall deformities in children (Nuss procedure). Adv Pediatr. 2008;55:395-410. – PubMed
  • Wolf WM, Fischer MD, Saltzman DA, Leonard AS. Surgical correction of pectus excavatum and carinatum. Minn Med. 1987 Aug;70(8):447-53. – PubMed
  • Robicsek F. Repair of pectus excavatum. Ann Thorac Surg. 2010 Jul;90(1):363. –PubMed
  • Haecker FM, Sesia S. Vacuum bell therapy. Ann Cardiothorac Surg. 2016 Sep;5(5):440-449. – PMC PubMed
  • Nasr A, Fecteau A, Wales PW. Comparison of the Nuss and the Ravitch procedure for pectus excavatum repair: a meta-analysis. J Pediatr Surg. 2010 May;45(5):880-6. –PubMed
  • Kelly RE, Mellins RB, Shamberger RC, Mitchell KK, Lawson ML, Oldham KT, Azizkhan RG, Hebra AV, Nuss D, Goretsky MJ, Sharp RJ, Holcomb GW, Shim WK, Megison SM, Moss RL, Fecteau AH, Colombani PM, Cooper D, Bagley T, Quinn A, Moskowitz AB, Paulson JF. Multicenter study of pectus excavatum, final report: complications, static/exercise pulmonary function, and anatomic outcomes. J Am Coll Surg. 2013 Dec;217(6):1080-9.

Share :

Scroll to Top
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.